Rosacea เป็นโรคผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดผื่นแดง ตุ่มแดงหรือตุ่มหนองบริเวณใบหน้า จมูก พบได้ไม่บ่อยและในบางครั้งอาจมีลักษณะดูคล้ายกับสิวได้ มักจะพบโรคนี้ในผู้หญิงวัยกลางคนที่มีผิวขาว
สาเหตุ ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยทั้งทางพันธุกรรมและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม โดยไม่ได้เกิดจากภาวะสุขอนามัยหรือการดูแลที่ไม่ดี อย่างไรก็ตามมีปัจจัยที่จะกระตุ้นทำให้อาการของโรคเป็นมากขึ้นได้ ดังต่อไปนี้
1.การออกกำลังกายที่หักโหม
2.ความเครียด
3.อุณหภูมิที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด
4.แสงแดดและลม
5.ดื่มน้ำในอุณหภูมิที่ร้อนจัดหรือรับประทานอาหารรสเผ็ด
6.ร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงมาก
7.การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ไวน์และเหล้า
8.การรับประทานยาที่ขยายหลอดเลือด บางครั้งรวมถึงการใช้ยาลดความดันโลหิตบางชนิด
กลุ่มเสี่ยง
โรคผิวหนังอักเสบRosaceaสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่อาจพบได้บ่อยในกลุ่มต่างๆ ดังต่อไปนี้
1.มักพบในผู้หญิง อายุ 30-60 ปี
2.ผิวบอบบาง ไวต่อการถูกทำลายจากแสงแดด
3.มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคผิวหนังอักเสบRosacea
4.มีพฤติกรรมสูบบุหรี่
อาการของโรค
ผู้ป่วยจะมีผื่นแดงที่บริเวณแก้ม-จมูก คงค้างอยู่ตลอด อาจเห็นหลอดเลือดแดงที่ชัดขึ้นหรือบวมขึ้นเป็นช่วงๆ ได้ ในบางรายอาจมีตุ่มแดงหรือตุ่มหนองคล้ายสิว ผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกร้อนหรือเจ็บที่บริเวณผื่นได้ นอกจากนี้ Rosacea ยังทำให้เกิดอาการตาแดง ตาแห้ง เคืองตา เปลือกตาบวมได้ (Ocular rosacea) โดยอาจมีอาการทางตานำมาก่อนเกิดผื่นก็ได้
อาการแทรกซ้อนที่อาจพบได้
Rhinophyma เป็นภาวะที่ผิวหนังเกิดเป็นปุ่มนูนบริเวณจมูกหรือแก้ม จมูกผิดรูปจากต่อมไขมันที่ขยายขนาดมากขึ้นและกระตุ้นให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อที่หนาขึ้น ภาวะนี้มักพบในผู้ชายที่มีการดำเนินของโรค rosacea มาหลายๆ ปี
เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์
เมื่อเกิดรอยแดงบนใบหน้าที่ค้างอยู่ไม่จางลงเอง อาจมีตุ่มแดง หรือตุ่มหนองร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนัง เนื่องจากผื่นแดงที่ใบหน้านั้นเป็นอาการของโรคอื่นๆ ได้ด้วย เช่น โรคเอส แอล อี(SLE), โรคผื่นแพ้ชนิดสัมผัส(Allergic contact dermatitis) เป็นต้น เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องและให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป
การรักษา
แม้ว่าโรคนี้จะไม่มีสามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาจะเน้นไปที่การควบคุมอาการเป็นหลัก ซึ่งระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาก็จะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล
ยาทาภายนอก มียาทาหลายชนิด เพื่อการลดการอักเสบและรอยแดง อาจใช้คู่กับยารับประทาน
ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน Doxycyclinใช้ในรายที่มีความรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก
ยารักษาสิว Isotretinoin ช่วยยับยั้งการผลิตน้ำมันในต่อมไขมัน จะลดการเกิดรอยโรคแบบตุ่มแดงและตุ่มหนอง
การรักษาด้วยการเลเซอร์ เหมาะกับผู้ป่วยที่พบเส้นเลือดฝอยขึ้นบริเวณใบหน้า ควรอยู่ภายใต้การทำเลเซอร์โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางผิวหนัง หลังจากการทำเลเซอร์ 1 –2 สัปดาห์ รอยต่างๆ จะจางลงอย่างเห็นได้ชัด
วิธีหลีกเลี่ยงการเกิดรอยแดงบนผิวหนัง
1.หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่จะทำให้โรคเห่อมากขึ้น เช่น การรับประทานอาหารรสจัด สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
2.ทาครีมกันแดด เลือกครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 หรือมากกว่า
3.ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กับผิวหน้าและให้การดูแลผิวหน้าที่เหมาะสม เช่น
-ใช้ครีมที่มีส่วนผสมของมอยซ์เจอร์ไรเซอร์เพื่อบำรุงให้ผิวนุ่มชุ่มชื่นทุกวัน
-ไม่ล้างหน้าบ่อยจนเกินไป ไม่ควรล้างหน้าด้วยสบู่เกินวันละ 2 ครั้งและ เลือกผลิตภัณฑ์ที่เป็นสูตรอ่อนโยนต่อผิว ปราศจากแอลกอฮอลล์ น้ำหอม พาราเบน หลังล้างหน้าควรซับผิวหน้าด้วยผ้านุ่ม
-หลีกเลี่ยงการขัดผิวหน้า
4.หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์หากแพทย์ไม่แนะนำ